วันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2554

ประวัติความเป็นมาเมืองอำนาจเจริญ

เมื่อ พุทธศักราช ๒๔๓๗ เจ้าพระพรหมวรราชสุริยวงศ์ เจ้าเมืองอุบลราชธานี คนที่ ๒ ได้มีใบบอก ลงไปกราบทูลพระกรุณา พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ขอพระราชทานตั้งบ้านโคกก่ง กงพะเนียง (ปัจจุบันเป็นตำบลอยู่ในการปกครองของอำเภอชานุมาน) เป็นเมืองเขมราฐธานี พระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงทรงกรุณาโปรดเกล้าให้ตั้งบ้านโคกก่งกงพะเนียง เป็นเมืองเขมราฐธานี ตามที่พระพรหมวรราชสิริยวงศา กราบทูล และ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้อุปฮาดก่ำ บุตรชายคนโตของพระวอ จากเมืองอุบลราชธานี มาเป็นเจ้าเมืองเขมราฐ(ที่ตั้งอยู่เมืองบริเวณบ้านคำแห้ว เมืองเก่า อำเภอชานุมาน) ได้รับสถาปนาเป็นพระเทพวงศา(ก่ำ)
                       ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๓๖๙ เกิดศึกระหว่างกรุงเทพฯ กับกองทัพเจ้าอนุวงศ์ เจ้านครจำปาศักดิ์ ได้ยกทัพมายึดเมืองเขมราฐ ขอให้พระเทพวงศา (ก่ำ)เข้าเป็นพวกด้วย แต่พระเทพวงศาไม่ยอมจึงถูกประหารชีวิตพระเทพวงศา (ก่ำ) มีบุตรชาย ๓ คน คือ พระเทพวงศา (บุญเฮ้า) คนที่ ๓ ท้าวแดง มียศเป็นพระกำจนตุรงค์ ได้เป็นเจ้าเมืองวารินชำราบ พระเทพวงศา (บุญจันทร์) มีบุตรชาย ๒ คน คือ ท้าวบุญสิงห์ และท้าวบุญชัย ต่อมา ท้าวบุญสิงห์ ได้เป็นเจ้าเมืองเขมราฐ มียศเป็นพระเทพวงศา (บุญสิงห์) มีบุตรชาย ๒ คน คือ ท้าวเสือ และท้าวพ่วย ซึ่งได้รับยศเป็น ท้าวจันทบุรมหรือจันทบรม ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๐๑ ได้กราบบังคมทูลยกฐานะบ้านค้อใหญ่ (ปัจจุบันอยู่ในท้องที ่อำเภอลืออำนาจ) ขึ้นเป็นเมืองอำนาจเจริญ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะบ้านค้อใหญ่ ขึ้นเป็นเมือง ให้ชื่อว่า "เมืองอำนาจเจริญ" เมื่อ พุทธศักราช ๒๔๑๐ และโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวจันทบรม (เสือ) เป็นเจ้าเมือง มียศเป็นพระอมรอำนาจ(ต้นสกุลอมรสิน) ดังปรากฏตราสารตั้งเจ้าเมืองอำนาจเจริญ ดังนี้

                       "สารตราเจ้าพระยาจักรี ศรีองครักษ์ สมุหนายก อรรคมหาเสนาบดี อภัยภริยปรากรมพาหุ มาถึง พระเทพวงศ์ พระอุปราช ราชวงศ์ ราชบุตร เมืองเขมราฐธานี" ด้วยมีพระราชโองการตรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า เจ้าพระยานิกรบดินทร์มหากัลยาณบัตร สมุหนายก กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ท้าวจันทบุรม เป็นนายกอง ตั้งอยู่บ้านค้อบ้านหม้อแขวงเมืองเขมราฐธานี มีจำนวน คน พระสงฆ์ สามเณร ๑๒๓ คน ชรา - คน พิการ ๑๑๙ ท้าวเพี้ย จ่าบ้าน ๒๓๔ ชายฉกรรจ์ ๕๗๘ ข้าพระ ๓๖ ทาส ๒๒ รวม ๑๑๑,๗ คน รับผูกส่วย เงินแทนผลเร่ว เป็นหลวง ปีละ ๕๓ หาบ เมื่อถึงกำหนดปี ให้ส่งผลเร่วไปให้ครบจำนวน บ้านค้อ บ้านหม้อ มีไร่นา ที่ทำกินกว้างขวาง แต่บ้านค้อบ้านหม้อเดินทางไปเขมราฐธานี ใช้เวลาถึง ๓ คืน จะขึ้นไป เมืองมุกดาหาร ๔ คืน จะลงมาเมืองอุบลราชธานีถึง ๓ คืน จะตัดไปเมืองยศ(เมืองยโสธร)๒ คืน เจ้าเมืองเพี้ย ขึ้นลงไปมาเป็นที่พักอาศัยไม่ขาด เมื่อปีมะโรง อัฐศก ได้มีหนังสือ ขึ้นไปปรึกษาพระเทพวงศา พระอุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร เมืองเขมราฐธานี มีใบบอกให้ราชบุตรพาท้าวจันทบุรม นายกอง ท้าวเพี้ย ลงมาขอรับพระราชทาน ตั้งบ้านหม้อเป็นเมือง โดยขอให้ท้าวจันทบุรม เป็นเจ้าเมือง ท้าวบุตร เป็นอุปฮาด ท้าว สีหาราช เป็นราชวงศ์ ท้าวสุริโย เป็นราชบุตร ทำราชการขึ้นกับเมืองเขมราฐธานี แล้วแต่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม จึงทรงพระราชดำรัสว่า ...
"ผู้คนและไพร่พลมีมาก ควรตั้งเป็นเมืองได้ ครั้นจะสมัครอยู่ไหน ก็ได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม จัดแจงตั้งเป็นเมือง ทำราชการขึ้นกับเมืองนั้น ทั่วไปทุกบ้านทุกเมือง "
                        ซึ่งเจ้าพระยานิกรบดินทร์มหากัลยาณมิตร ที่สมุหนายกปรึกษา พระเทพวงศา พระอุปราช ราชวงศ์ราชบุตร จึงเห็นพ้องต้องกันพร้อมยกฐานบ้านหม้อ ขึ้นเป็นเมือง ขอให้ท้าวจันทบุรม เป็นเจ้าเมือง ท้าวบุตรเป็นอุปฮาด ท้าวสีหาราช เป็นราชวงศ์ ท้าวสุริโย เป็นราชบุตร ทำราชการขึ้นกับพระเทพวงศา เจ้าเมืองเขมราฐธานี นั้นชอบแล้ว ได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระราชทานนามสัญญาบัตร ประทับตราพระบรมราชโองการ ตั้งท้าวจันทบุรม เป็นพระอมรอำนาจ เจ้าเมือง พระราชทานถาดหมาก คนโทเงิน สำรับหนึ่ง สัปทนแพรคันหนึ่ง เสื้อเข้มขาบริ้วดอกตัวหนึ่ง แพรสีทับทิม ติดขลิบผืนหนึ่ง ผ้าส่านวิลาศผืนหนึ่ง แพรหงอนไก่ลายผืนหนึ่ง ผ้าเชิงปูมผืนหนึ่ง เป็นเครื่องยศฐานาศักดิ์ ขึ้นรักษาเมือง ทำราชการขึ้นกับเมืองเขมราฐธานีสืบไป และท้าวจันทบุรม ผู้เป็นพระอมรอำนาจ ฟังบังคับบัญชาพระเทพวงศา อุปราชราชวงศ์ ราชบุตร เมืองเขมราฐธานี ให้ท้าวอุปราช ราชวงศ์ ท้าวราชบุตร เมืองอำนาจเจริญ ฟังบังคับบัญชา ท้าวจันทบุรม ผู้เป็นพระอมรอำนาจ เจ้าเมืองอำนาจ เจริญ แต่ที่ชอบด้วยราชการ อย่าให้ถือว่าแต่ก่อนอยู่ใต้บังคับบัญชาพระเทพวงศา เดี๋ยวนี้ได้แยกออกเป็นเมืองแล้ว อย่าได้ขัดแย้งต่อเมืองใหญ่ ฝ่ายพระเทพวงศา ก็อย่าอิจฉาพยาบาทถือเป็นเมืองเขาเมืองเรา มีราชการเมืองมาก็ให้ประนีประนอม ช่วยเหลือราชการให้เป็นอันหนึ่งใจเดียวกัน อย่าถือเปรียบแก่งแย่งให้เสียราชการได้ อนึ่งเมืองอำนาจเจริญเป็นเมืองที่ตั้งใหม่ เจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร ยังไม่รู้กฏหมาย แบบอย่างขนบธรรมเนียมให้พระเทพวงศา ว่ากล่าวสั่งสอนพระอมรอำนาจประพฤติแต่ที่ชอบที่ควร ฯลฯ
ให้พระอมรอำนาจเจ้าเมือง พร้อมอุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร ท้าวเพี้ย ไปพร้อมด้วยพระเทพวงศา อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร เมืองเขมราฐธานี ณ อุโบสถพระวิหารเมืองเขมราฐธานี กราบถวายบังคมสัตยานุสัตย์ถวายต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รับพระราชทานน้ำพิพัฒน์สัตยา ปีละ ๒ ครั้ง ตามธรรมเนียมสืบไป
"หนังสือมา ณ วันอังคาร ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๙ จุลศักราช ๑๒๒๐ ปีมะเมีย สัมฤทธิศก พุทธศักราช ๒๔๐๑"ถ

                             เมืองอำนาจเจริญ จึงได้รับการสถาปนาเป็นเมือง ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา โดยขึ้นการบังคับบัญชาของเจ้าเมืองเขมราฐธานี โดยมีท้าวจันทบุรม (เสือ) มีพระอมรอำนาจ ซึ่งเป็นบุตรชายของพระเทพวงศา (ท้าวบุญสิงห์) เจ้าเมืองเขมราฐธานี ซึ่งเป็นหลานเจ้าพระวอ เจ้าเมืองอุบลราชธานี เป็นเจ้าเมืองอำนาจเจริญคนแรก นับว่าเมืองอำนาจเจริญ เป็นเชื้อสายของเจ้าพระวอพระตาโดยตรงถ
ต่อมา ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ ได้เปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง โดยการปฏิรูปการปกครอง ให้เข้าสู่ระบบการบริหารราชการแผ่นดินแบบยุโรปตามแบบสากล เป็นเทศาภิบาล เมื่อ พุทธศักราช ๒๔๒๙ ถึง พุทธศักราช ๒๔๔๕ โดยยกเลิกการปกครองแบบเดิมที่ให้มีเจ้าเมือง พระอุปราช ราชวงศ์ และราชบุตร ที่เรียกว่า อาญาสี่


                              อาญาสี่ หรือ อาชญาสี่ เป็นตำแหน่งผู้บังคับบัญชาสูงสุด ในหัวเมืองมี ๔ ตำแหน่ง
๑.เจ้าเมือง เป็นผู้มีอำนาจสิทธิขาดในการสั่งการบ้านเมืองทั้งปวง แต่ถ้าเป็นเมืองขึ้นเมืองใหญ่ เจ้าเมืองไม่มีอำนาจตัดสินใจประหารชีวิตผู้ร้ายอุกฉกรรจ์ และไม่มีอำนาจถอดถอน กรรมการเมืองผู้ใหญ่ (อุปราช ราชวงศ์ ราชบุตร) ต้องฟังคำสั่งจากเมืองใหญ่ หรือแล้วแต่ พระมหากษัตริย์จะมีพระกระแสรับสั่งถ
๒. อุปราช หรือ อุปฮาด มีหน้าที่ทำการแทนเจ้าเมือง เมื่อ เจ้าเมืองไม่อยู่ หรืออยู่ แต่ไม่สามารถว่าราชการได้ อุปฮาดจะเป็น ผู้ทำการแทนทั้งสิ้นถ
๓. ราชวงศ์ มีหน้าที่เกี่ยวกับอรรถคดี ตัดสินชำระความในการปกครองทั่วไป ราชวงศ์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งอุปราช และเป็นผู้รวบรวมสรรพบัญชี ส่วยอากร เป็นต้นถ
๔. ราชบุตร มีหน้าที่ควบคุมเก็บรักษาผลประโยชน์ของเมือง ราชบุตร แปลว่า บุตรเจ้าเมือง แต่ความจริงแล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นเชื้อพระวงศ์ของเจ้าเมืองเสมอไป แต่อาจเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถในราชการที่พระเจ้าแผ่นดินทรงโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งราชบุตรก็ยังคงเรียกว่า "ราชบุตร"ถ
ตำแหน่งอาญาสี่ นี้ถ้าเป็นเมืองเล็กหรือเมืองที่ขึ้นกับเมืองใหญ่ เรียกว่า เจ้าเมือง อัครฮาด อัครวงศ์ และอัครบุตร เมืองเจริญขึ้นมีผู้คนมากก็จะได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น เช่น เมืองมหาสารคาม ได้เลื่อนตำแหน่งอาญาสี่ ในปีพุทธศักราช ๒๔๑๑ คือ อัครฮาด เป็น อุปฮาด อัครวงศ์ เป็นราชวงศ์ และอัครบุตร เป็นราชบุตร


                           ตำแหน่งสำหรับหมู่บ้าน มี ๔ ตำแหน่ง ซึ่งเทียบได้เป็นตำแหน่งของการปกครอง ในปัจจุบัน
๑.ท้าวฝ่าย เทียบกับ ตำแหน่งนายอำเภอ
๒.ตาแสง เทียบกับ ตำแหน่งกำนัน
๓.พ่อบ้าน หรือ นายบ้าน เทียบกับ ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน
๔.จ่าบ้าน เทียบกับ ตำแหน่งสารวัตรหมู่บ้าน หรือสารวัตรตำบล

                           นับแต่ปี พุทธศักราช ๒๔๒๙ ถึง พุทธศักราช ๒๔๕๕ ได้ยกเลิกการปกครองแบบเก่า คือ ยกเลิกตำแหน่งอาญาสี่สืบสกุล ในการเป็นเจ้าเมืองนั้นเสีย จัดให้ข้าราชการจากราชสำนัก ในกรุงเทพฯมาปกครอง เปลี่ยนชื่อตำแหน่งผู้ปกครอง จากเจ้าเมือง มาเป็นถ
ผู้ว่าการเมืองแทนและปรับปรุงการปกครองหัวเมืองมณฑลอีสาน จึงยุบเมืองเล็กเมืองน้อยรวมเป็นเมืองใหญ่ ยุบเมืองเป็นอำเภอ เช่น เมืองเขมราฐธานี เมืองยศ(ยโสธร) เมืองฟ้าหยาด(มหาชนะชัย) เมืองลุมพุก(คำเขื่อนแก้ว) เมืองขุหลุ(ตระการพืชผล) เมืองอำนาจเจริญ ไปขึ้นการปกครองกับจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา อำเภออำนาจเจริญจึงได้แต่งตั้งนายอำเภอปกครอง

                           นายอำเภอคนแรก คือ รองอำมาตย์โทหลวงเอนกอำนาจ (เป้ย สุวรรณกูฏ)พุทธศักราช. ๒๔๕๕ - ๒๔๕๙ ต่อมาประมาณ พุทธศักราช๒๔๕๙ ย้ายจากที่เดิม (บ้านค้อ บ้านอำนาจ อำเภอลืออำนาจในปัจจุบัน) มาตั้ง ณ ตำบลบุ่ง ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองในปัจจุบัน ตามคำแนะนำของพระยาสุนทรพิพิธ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขามณฑลอีสาน ได้เดินทางมาตรวจราชการโดยใช้เกวียนเป็นพาหนะ มีความเห็นว่าหากย้ายอำเภอมาตั้งใหม่ที่บ้านบุ่ง ซึ่งเป็นชุมชนและชุมทางสี่แยก ระหว่างเมืองอุบล-มุกดาหาร และเมืองเขมราฐ-เมืองยศ (ยโสธร) โดยคาดว่าจะมีความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปในอนาคต โดยชื่อว่า อำเภอบุ่ง (เสนอแนะย้ายพร้อมกับอำเภอเดชอุดม ย้ายจากเมืองขุขันธ์ (ศรีสะเกษ) มาขึ้นกับจังหวัดอุบลราชธานี) โดยยุบเมืองอำนาจเจริญเป็นตำบล ชื่อว่าตำบลอำนาจ ซึ่งชาวบ้านชอบเรียกว่า เมืองอำนาจน้อย อยู่ในเขตท้องที่อำเภอลืออำนาจในปัจจุบัน ต่อมาในปี พุทธศักราช ๒๔๘๒ จึงเปลี่ยนชื่อจากอำเภอบุ่ง เป็นอำเภออำนาจเจริญ ขึ้นการปกครองกับจังหวัดอุบลราชธานี

                               
                 ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดอำนาจเจริญ พุทธศักราช ๒๕๓๖ ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๓๖ ตรงกับวันพุธ แรม ๓ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีระกา ยกฐานะอำเภออำนาจเจริญ เป็นจังหวัดอำนาจเจริญ โดยให้แยกอำเภออำนาจเจริญ อำเภอชานุมาน อำเภอปทุมราชวงศา อำเภอพนา อำเภอหัวตะพาน อำเภอเสนางคนิคม และกิ่งอำเภอลืออำนาจ (ปัจจุบันอำเภอลืออำนาจ) รวม ๖ อำเภอ ๑กิ่งอำเภอ โดยแยกออกจากการปกครองจังหวัดอุบลราชธานี รวมกันขึ้น เป็นจังหวัดอำนาจเจริญ (ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ หน้า๔-๕-๖ เล่ม๑๑๐ ตอนที่ ๑๒๕ ลงวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๓๖

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น